วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กกับเทคโนโลยีเว็บ

การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กกับเทคโนโลยีเว็บ

อินเทอร์เน็ตเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของเทคโนโลยีที่ได้รับการขานรับจากทั่วโลก ปัจจุบันการเติบโตของอินเทอร์เน็ตได้ครอบคลุมทั่วทั้งโลก และเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นถนนของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเสมือนใยแมงมุมคลุมทุกหนทุกแห่งไว้หมด
ในที่สุดทุกคนบนพื้นโลกจะใช้ข้อมูลข่าวสาร และรับส่งข่าวสารผ่านเครือข่ายนี้ โดยมีเพียง พีซีเครื่องหนึ่งกับซอฟต์แวร์ที่เรียกว่าบราวเซอร์ก็ทำให้สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่าย ภายในองค์กรก็มีการเชื่อมโยงกลุ่มทำงานที่เรียกว่าเวิร์กกรุปเข้าด้วยกัน และเชื่อมเข้าสู่อินเทอร์เน็ตในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้การแสดงภาพขององค์กรหรือบุคคลบนเครือข่ายจึงใช้สัญญลักษณ์ที่เรียกว่าโฮมเพ็จ หรือสถานีบริการที่นำข้อมูลข่าวสารมาวางไว้ เพื่อเป็นตัวแทนองค์กรหรือบุคคล
กล่าวกันว่า การทำงานทุกอย่างในยุคต่อจากนี้ไปจะใช้เทคโนโลยีเว็บนี้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ สภาพการทำงานหลายอย่างจะเปลี่ยนลักษณะและบทบาทที่เคยเป็น การดำเนินงานจึงต้องหันมาสร้างประโยชน์บนเว็บนี้ให้มากที่สุด
ลองนึกดูว่า สถาปนิกสามารถออกแบบบ้านบนเครื่องคอมพิวเตอร์ และแสดงบนเว็บ สามารถส่งต่อให้กับลูกค้าได้ชม โดยมีโปรแกรมสมมุติที่จะดูรูปแบบได้เหมือนจริง และยังส่งให้วิศวกรคำนวณโครงสร้าง ประเมินราคา หากไม่พอใจบางส่วนก็ปรับแต่งแก้ไขบนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงถึงกันได้
การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมก็ใช้โปรแกรมพวก CAD - Computer Aided Design เมื่อออกแบบเสร็จก็เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย เพื่อส่งต่อส่วนการผลิตหรือตรวจสอบต่าง ๆ การผลิตก็ใช้โปรแกรมประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต ที่เรียกว่า CAM - Computer Aided Manufacturing เครื่องจักรส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมและเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ทำให้การใช้วัตถุดิบที่เชื่อมโยงไปยังบริษัทผู้ขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเกี่ยวโยงยังครอบคลุมถึงการควบคุมสินค้าคงคลังและฝ่ายบัญชีของบริษัท
การค้าขายที่เรียกว่า อีคอมเมิร์ช (Ecommerce) จะเข้ามามีบทบาทต่อการค้ายุคใหม่ การทำงานภายในสำนักงานจะมีการสร้างกลุ่มงานที่ทำงานร่วมกัน โดยอาศัยเครือข่ายเป็นตัวเชื่อมโยง การค้าขายบนเครือข่ายทำให้เป้าหมายของลูกค้ากว้างไกลออกไปอีกมาก การนำเสนอสินค้าที่อยู่ในรูปของโฮมเพ็จจะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอีกมาก ในยุคต่อจากนี้ การนำเสนอบนอินเทอร์เน็ตจะพึ่งพาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และการแสดงที่มีลักษณะสมจริงมากขึ้น
กล่าวกันว่าในอนาคต ถ้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเกิดขัดข้องหรือล้มเหลวลง จะทำให้กิจการการทำงานหลายอย่างมีปัญหาและอาจจะเป็นความโกลาหลได้ การสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะหยุดชงัก จนมีผู้พูดติดตลกว่า เงินเดือนอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ เพราะระบบโปรแกรมเงินเดือนที่ทำงานร่วมกันอยู่บนเว็บไม่สามารถรับข้อมูลมาประมวลผลได้หมด
เทคโนโลยีเว็บจึงประกอบด้วยตัวเทคโนโลยีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ต้องพัฒนาให้ถนนของข้อมูลข่าวสารมีขนาดกว้างและรวดเร็วมากขึ้น การเชื่อมโยงติดต่อถึงกันเป็นเครือข่ายของโลก มีระบบการดูแลและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ดีขึ้น เทคโนโลยีอีกส่วนหนึ่งคือเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ ปัจจุบันมีการพัฒนาในรูปแบบแนวทางการพัฒนาเชิงวัตถุ หรือที่เรียกว่า ออปเจ็ก โอเรียนเต็ด (Object Oriented) ทำให้ซอฟต์แวร์บนเครือข่ายมีลักษณะเป็นรูปธรรม ผู้ใช้งานใช้เพียงบราวเซอร์หรือสถานีปลายทาง แต่สามารถเรียกซอฟต์แวร์จากเชิร์ฟเวอร์ให้มาทำงานบนเครื่องของตนเองได้ การพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุแบบกระจายจะเป็นหนทางที่ทำให้ความซับซ้อนของระบบงานเป็นไปได้อีกมาก การทำงานร่วมกันบนเครือข่ายจะอาศัยซอฟต์แวร์ที่เป็นออปเจ็ก กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กเหล่านี้สร้างการประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ ได้อีกมากมายมหาศาล
ทั้งเทคโนโลยีเครือข่ายและเทคโนโลยีซอฟต์แวร์เชิงวัตถุ เป็นแนวคิดแนวใหม่ที่จะทำให้เทคโนโลยีเว็บเดินหน้าไปได้อีกมาก ดังตัวอย่างเช่น สถาปนิกออกแบบชิ้นงานและนำเสนอไว้บนเชิร์ฟเวอร์ ผู้เรียกดูสามารถนำชิ้นงานมาทำงานบนเครื่องของตนเอง จนสามารถดูผลงานเป็นภาพแบบสามมิติ โปรแกรมที่ใช้ในการนำเสนอผลงานก็เป็นโปรแกรมที่กระจายอยู่ในเชิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ที่เรียกเข้ามาใช้งานร่วมกัน
ณ วันนี้การพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุบนเครือข่ายยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ดังเราจะเห็นแนวทางของการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเว็บที่ใช้ภาษาจาวา ภาษาจาวามีแนวทางของการสร้างซอฟต์แวร์แบบเชิงวัตถุ ที่ผู้ใช้สามารถเรียกรหัสจาวามาทำงาน หรือดำเนินการที่เครื่องของตนเอง มีการทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่เครื่องมากมายนัก
ความคิดของการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเครือข่ายในรูปแบบเว็บจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมไป เพราะจากเดิมให้ซอฟต์แวร์อยู่ที่เครื่องหลัก ผู้ใช้ออนไลน์ผ่านเครือข่ายไปเรียกใช้ แต่ต่อมามีแนวคิดในการทำงานแบบไคลแอนต์และเชิร์ฟเวอร์ อินเทอร์เน็ตในยุคแรกใช้แบบไคลแอนต์และเชิร์ฟเวอร์เป็นหลัก ดังเราจะเห็นได้จากตัวอย่างของการประยุกต์บน WWW ที่แพร่หลายในรูปโฮมเพ็จบนอินเทอร์เน็ต โปรแกรมบราวเซอร์เป็นโปรแกรมแบบไคลแอนต์ และทาง www เชิร์ฟเวอร์มีโปรแกรมจัดการเว็บ ครั้นเมื่อสร้างซอฟต์แวร์ในรูปแบบเชิงวัตถุ หรือเป็นออปเจ็กมากขึ้น การทำงานบนเครือข่ายจึงมีลักษณะการเรียกซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กมาทำงานร่วมกันด้วย แทนที่จะเรียกเฉพาะข้อมูล เหมือนเช่นการใช้งานเปิดข้อมูลโฮมเพ็จทั่วไป
ลักษณะเด่นของซอฟต์แวร์เชิงวัตถุคือ แต่ละออปเจ็กของซอฟต์แวร์มีลักษณะอิสระ โดยซ่อนส่วนที่เป็นกระบวนการทำงานและข้อมูลไว้ภายใน การติดต่อระหว่างออปเจ็กใช้ระบบสื่อสาร โดยส่งสัญญาณกระตุ้นการทำงานของออปเจ็ก ดังนั้นซอฟต์แวร์เชิงวัตถุจึงเป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งานบนเครือข่าย เพราะสามารถกระจายออปเจ็กและส่งออปเจ็กไปทำงานที่ใดก็ได้
เทคโนโลยีเว็บจึงเป็นเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนไปหมด การดำเนินงานทางธุรกิจทั่วไปภายในองค์กรและระหว่างองค์กรจะต้องเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกันและทำงานร่วมกัน การพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเว็บจึงเป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ซอฟต์แวร์แนวใหม่นี้ไม่ได้
ก็อยากจะเน้นให้เห็นว่า ไม่ว่าเครือข่ายจะพัฒนาทางฮาร์ดแวร์ไปมากมายเพียงไร การประยุกต์ใช้งานที่ได้ผลดียังขึ้นกับการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเครือข่าย แนวทางของการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นออปเจ็ก เหมือนวัตถุ และยังวางกระจายกันบนเครือข่ายที่สามารถเรียกมาใช้งานร่วมกันเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะบนเครือข่ายไม่ใช่เป็นถนนของข้อมูลอย่างเดียว ยังเป็นถนนของโปรแกรมที่มีลักษณะเป็นออปเจ็กที่จะวิ่งมาร่วมกันทำงานบนเครื่องใดเครื่องหนึ่ง หรือให้หลาย ๆ เครือข่ายช่วยกันทำงานตามฟังก์ชันที่กำหนด
การดำเนินการทางธุรกิจจึงต้องพึ่งซอฟต์แวร์แนวใหม่นี้ เพื่อทำให้การทำงานบนเครือข่ายมีลักษณะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น



เขียนโดย : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
Last update : 17/05/1999

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น