วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

เครื่องพิมพ์แบบจุด


เครื่องพิมพ์แบบจุด 

คุณภาพของงานพิมพ์เอกสารโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนหนึ่งขึ้นกับประสิทธิภาพของเครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับนำข้อมูลที่ประมวลผลแล้วพิมพ์ลงบนกระดาษตามที่ต้องการ เครื่องพิมพ์ที่ใช้กันในปัจจุบันมีหลายแบบ หลายยี่ห้อ เครื่องพิมพ์ที่มีผู้นิยมใช้งานสูงชนิดหนึ่งคือเครื่องพิมพ์แบบจุด (dot matrix printer)
เครื่องพิมพ์แบบจุดเป็นเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก มีราคาถูก คุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ใช้งานได้ทั่วไป
การที่เรียกว่าเครื่องพิมพ์แบบจุด เพราะรูปลักษณะตัวอักษรที่พิมพ์ออกมาจะเป็นจุดเล็ก ๆ อยู่ในกรอบ เช่น ตัวอักษรที่มีความละเอียดในแนวทางสูงของตัวอักษร 24 จุด และความกว้างแต่ละตัวอักษร 12 จุด ขนาดแมทริกซ์ของตัวอักษรจะมีขนาด 24x12 จุด

การพิจารณาซื้อเครื่องพิมพ์แบบจุด ควรพิจารณาคุณลักษณะที่สำคัญของเครื่องพิมพ์ดังต่อไปนี้
1. จำนวนเข็มของหัวพิมพ์ เครื่องพิมพ์ที่ใช้ทั่วไปหัวพิมพ์มีเข็มเล็ก ๆ จำนวน 9 เข็ม แต่ถ้าต้องการให้งานพิมพ์มีรายละเอียดมากหรือมีรูปแบบตัวหนังสือสวยขึ้น หัวพิมพ์ควรมีจำนวนเข็ม 24 เข็ม การพิมพ์ตัวหนังสือในภาวะความสวยงามนี้เรียกว่า เอ็นแอลคิว (News Letter Quality : NLQ) ดังนั้นเครื่องพิมพ์ที่หัวพิมพ์มีเข็มจำนวน 24 เข็ม จะพิมพ์ได้สวยงามกว่าเครื่องพิมพ์ที่หัวพิมพ์มีเข็มจำนวน 9 เข็ม
2.  คุณภาพของหัวเข็มกับงานพิมพ์  หัวเข็มเป็นลวดที่มีกลไกขับเคลื่อน ใช้หลักการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า หัวเข็มที่มีคุณภาพดีต้องแข็ง สามารถพิมพ์สำเนากระดาษหนาได้สูงสุดถึง 5 สำเนา คุณสมบัติการพิมพ์สำเนานี้เครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องจะพิมพ์ได้ไม่เท่ากันเพราะมีคุณภาพแรงกดไม่เท่ากัน ทำให้ความชัดเจนของกระดาษสำเนาสุดท้ายต่างกัน
3.  ความละเอียดของจุดในงานพิมพ์  ความละเอียดของจุดในงานพิมพ์จะขึ้นอยู่กับขนาดของหัวเข็มและกลไกการขับเคลื่อนของเครื่องพิมพ์แต่ละรุ่น เช่น 360x360 จุดต่อนิ้ว 360x180 จุดต่อนิ้ว คุณภาพการพิมพ์ภาพกราฟิกขึ้นอยู่กับคุณลักษณะนี้
4.  อุปกรณ์ตรวจสอบหัวพิมพ์ เครื่องพิมพ์แบบจุดบางรุ่นจะมีอุปกรณ์ตรวจสอบหัวพิมพ์ เช่น
    การตรวจสอบความร้อนของหัวพิมพ์ เพราะเมื่อใช้พิมพ์ไปนาน ๆ หัวพิมพ์จะเกิดความร้อนสูงมาก แม้มีครีบระบายความร้อนแล้ว ก็อาจไม่พอเพียง ถ้าความร้อนมาก อุปกรณ์ตรวจความร้อนจะส่งสัญญาณให้เครื่องพิมพ์ลดความเร็วของการพิมพ์ลง ครั้งเมื่ออุณหภูมิลดลงก็จะเพิ่มความเร็วของการพิมพ์ไปเต็มพิกัดอีก
    การตรวจสอบความหนาของกระดาษ เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์ตรวจสอบกระดาษ ถ้าป้อนกระดาษหนาไปจะทำให้หัวพิมพ์เสียหายได้ง่าย ตัวตรวจสอบความหนาจะหยุดการทำงานของเครื่องพิมพ์ เมื่อตรวจพบว่ากระดาษหนาเกินไป เพื่อป้องกันความเสียหายของหัวพิมพ์ นอกจากนี้ยังสามารถสอบว่ากระดาษหมดหรือไม่อีกด้วย
5. ความเร็วของการพิมพ์ ความเร็วของการพิมพ์ มีหน่วยวัดเป็นจำนวนตัวอักษรต่อวินาที การวัดความเร็วของเครื่องพิมพ์ต้องมีคุณลักษณะการพิมพ์เป็นจุดอ้างอิง เช่น พิมพ์ได้ 300 ตัวอักษรต่อวินาที ในภาวะการพิมพ์แบบปกติ และที่ขนาดตัวอักษร 10 ตัวอักษรต่อนิ้วแต่หากพิมพ์แบบเอ็นแอลคิว (NLQ) โดยทั่วไปแล้วจะลดความเร็วเหลือเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น การทดสอบความเร็วในการพิมพ์นี้อาจไม่ได้เท่ากับคุณลักษณะที่บอกไว้ ทั้งนี้เพราะขณะพิมพ์จริง เครื่องพิมพ์มีการเลื่อนหัวพิมพ์ขึ้นบรรทัดใหม่ ขึ้นหน้าใหม่ การเลื่อนหัวพิมพ์ไปมาจะทำให้เสียเวลาพอสมควร ความเร็วของเครื่องพิมพ์แบบจุดในปัจจุบันมีตั้งแต่ 200-500 ตัวอักษรต่อวินาที
6.  ขนาดแค่พิมพ์ เครื่องพิมพ์ที่ใช้งานกันอยู่ในขณะนี้มีขนาดแคร่ 2 ขนาด คือใช้กับกระดาษกว้าง 9 นิ้ว และ 15 นิ้ว หรือพิมพ์ได้ 80 ตัวอักษร และ 132 ตัวอักษรในภาวะ 10 ตัวอักษรต่อนิ้ว
7. ที่พักข้อมูล คุณลักษณะในเรื่องที่พักข้อมูล (buffer) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการพิมพ์งานนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะส่งข้อมูลลงไปเก็บในที่พักข้อมูล ถ้าที่พักข้อมูลมีขนาดใหญ่ก็จะลดภาระการส่งงานของคอมพิวเเตอร์ไปยังเครื่องพิมพ์ได้มาก ขนาดของที่พักข้อมูลที่ใช้มีตั้งแต่ 8 กิโลไบต์ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เครื่องพิมพ์บางรุ่นสามารถเพิ่มเติมขนาดของที่พักข้อมูลได้ โดยการใส่หน่วยความจำลงไป ซึ่งต้องซื้อแยกต่างหาก
8.  ลักษณะการป้อนกระดาษ การป้อนกระดาษเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้งานเครื่องพิมพ์ คุณลักษณะที่กำหนดจะต้องชัดเจน การป้อนกระดาษมีตั้งแต่การใช้หนามเตย ซึ่งจะใช้กับกระดาษต่อเนื่องที่มีรูด้านข้างทั้งสองด้าน เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่มีหนามเตยอยู่แล้ว การป้อนกระดาษอีกแบบหนึ่ง คือ การใช้ลูกกลิ้งกระดาษโดยอาศัยแรงเสียดทานซึ่งเป็นคุณลักษณะของเครื่องพิมพ์ทั่วไ ป เครื่องพิมพ์บางรุ่นมีการป้อนกระดาษแบบอัตโนมัติ เพียงแต่ใส่กระดาษแล้วกดปุ่ม Autoload กระดาษจะป้อนเข้าไปในตำแหน่งที่พร้อมจะเริ่มพิมพ์ได้ทันที การป้อนกระดาษเป็นแผ่น ส่วนใหญ่จะป้อนด้วยมือได้ แต่หากต้องการทำแบบอัตโนมัติจะต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว อุปกรณ์นี้จะมีลักษณะเป็นถาดใส่กระดาษอยู่ภายนอกและป้อนกระดาษไปทีละใบเหมือนเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์บางเครื่องสามารถป้อนกระดาษเข้าเครื่องได้หลายทาง ทั้งจากด้านหน้า ด้านหลัก ด้านใต้ท้องเครื่อง หรือป้อนทีละแผ่น การป้องกระดาษหลายทางทำให้สะดวกต่อการใช้งาน
9.  ภาวะเก็บเสียง เครื่องพิมพ์แบบจุดเป็นเครื่องพิมพ์ที่มีเสียงดัง ดังนั้นบางบริษัทได้พัฒนาภาวะการพิมพ์ที่เสียงเบาเป็นปกติ เพื่อลดภาวะทางเสียง
10.  จำนวนชุดแบบอักษร เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีจำนนชุดแบบอักษร (font) ภาษาอังกฤษ ที่ติดมากับเครื่องจำนวน 4 ถึง 9 ชุด ขึ้นกับเครื่องพิมพ์แต่ละรุ่นชุดแบบอักษรนี้สามารถเพิ่มได้โดยใช้ตลับชุดแบบอักษรภาษาไทย ก็เป็นสิ่งสำคัญ เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่ที่ขายในเมืองไทยได้รับการดัดแปลงใส่ชุดแบบอักษรภาษาไทยไว้แล้ว
11.  การเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตามมาตรฐานสากลมีสองแบบ คือแบบอนุกรมและแบบขนาน เครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่มักต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยมีสายนำสัญญาณแบบ DB25 คือมีขนาดจำนวน 25 สาย การต่อกับเครื่องพิมพ์จะต้องมีสายเชื่อมโยงนี้ด้วย หากต้องการต่อแบอนุกรม จะต้องกำหนดลงไปในเงื่อนไข เพราะเครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีตัวเชื่อมต่ออนุกรมเป็นเงื่อนไขพิเศษ
12.  มาตรฐานคำสั่งการพิมพ์ เนื่องจากเครื่องพิมพ์ Epson ได้รับความนิยมมานาน ดังนั้น มาตรฐานคำสั่งการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ Epson จึงเป็นมาตรฐานที่เครื่องพิมพ์เกือบทุกยี่ห้อใช้ อย่างไรก็ตามเครื่องพิมพ์ไอบีเอ็มก็มีมาตรฐานของตนเองและเครื่องพิมพ์บางยี่ห้อก็ใช้ตาม
หากจะต่อเครื่องพิมพ์เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช เครื่องพิมพ์จะต้องมีคุณลักษณะในเรื่องภาวะการพิมพ์แตกต่างออกไป คือเป็นแบบโพสท์สคริปต์ (postscript)
การพิมพ์สี เครื่องพิมพ์บางรุ่น มีภาวะการพิมพ์แบบสีได้ การพิมพ์แบบสีจะทำให้งานพิมพ์ช้าลง และต้องใช้ริบบอนพิเศษ หรือ ริบบอนที่มีสี
การสั่งงานที่แป้นสั่งงานบนเครื่อง ปัจจุบันเครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีปุ่มควบคุมการสั่งงานอยู่บนเครื่องและมีจอภาพแอลซีดีขนาดเล็กเพื่อแสดงภาวะการทำงาน



รวบรวมจาก หนังสือเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ช 0249 เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์
สถาบันส่งเสริมารสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์


เครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์ 


เครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์ (visual display unit;VDU หรือ  cathode-ray tube; CRT) ประกอบด้วยจอโทรทัศน์และแป้นตัวอักษรเป็นเครื่องรับส่งข้อมูล ซึ่งสามารถแสดงเป็นภาพหรือตัวอักษรปรากฎขึ้นบนจอโทรทัศน์ ซึ่งเหมือนจนโทรทัศน์ที่ใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไป ในการส่งข้อมูลจะทำได้โดยการกดแป้นตัวอักษร ตัวอักษรนั้นจะปรากฎขึ้นบนจอโทรทัศน์และส่งเข้าไปไว้ในส่วนความจำ ถ้าพิมพ์ผิดก็สามารถแก้ไขได้ ลบทิ้งได้ หรือถ้าต้องการใช้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเรียกออกมาแสดงบนจอโทรทัศน์ได้
ภาพที่แสดงบนจอโทรทัศน์อาจเป็นตัวอักษร ภาพแสดงทางวิศวกรรมและทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันได้มีผู้ประดิษฐ์ปากกาแสง (light pen) ใช้สำหรับเขียนเส้นบนจอโทรทัศน์เป็นภาพต่าง ๆ เช่น ภาพโครงสร้าง ภาพแบบแปลนของเครื่องยนต์ เป็นต้น ทำให้การออกแบบบางอย่างสำเร็จลงได้อย่างรวดเร็วและได้รับความสะดวกมากขึ้น



ปากกาแสงเป็นอุปกร์ชนิดหนึ่งสำหรับช่วยใน
การเขียนเส้นต่าง ๆ บนจอภาพ


ในปัจจุบันนี้ ได้มีการประดิษฐ์จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่มากขึ้นอีกหลายแบบ แบบหนึ่งมีชื่อเรียกว่า ระบบแสดงสารสนเทศเพื่อการจัดการ (management information display systems; MIDS) มีขนาดกว้าง 5 ฟุต สูง 5 ฟุต มีจุดที่จะเปล่งแสงออกมา 512 x 512 จุด
ข้อดีของเครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์คือ สามารถแสดงข่าวสารที่ต้องการได้รวดเร็วและไม่เปลืองกระดาษที่ใช้พิมพ์ข่าวสาร แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีเอกสารเก็บไว้เป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์บางแบบสามารถพิมพ์ข่าวสารไว้ดูได้ด้วย


รวบรวมจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 11

เทคโนโลยีจอภาพแสดงผล


เทคโนโลยีจอภาพแสดงผล
จอภาพ LCD และ CRT
       เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก การใช้เครื่องมือต่างๆ ในชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับการแสดงผลเพื่อที่จะให้ข้อมูลข่าวสารปรากฎแก่สายตาของผู้ใช้พัฒนาการของจอภาพจึงต้องพัฒนาตามอย่างต่อเนื่อง


        คอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่ขึ้นกับการแสดงผล ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องติดต่อกับเครื่องผ่านทางเป้นพิมพ์และ แสดงผลออกมาทางจอภาพและการแสดงผลนั้นก็ได้รับการพัฒนาจากหลอดภาพ CRT และแผงแสดง LCD
        CRT มีการใช้กันอย่างกว้างขวางเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามานาน CRT เป็นจอภาพที่ใช้กับโทรทัศน์และ พัฒนาต่อให้ใช้กับจอภาพของคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันได้มีการผลิตจอภาพหลายสิบล้านเครื่องต่อปี หากพิจารณาที่เเทคโนโลยีการแสดงผล โดยพิจารณาหลักการของการใช้แสงเพื่อสร้างงาน เราสามารถแบ่งแยกหลักการออกเป็น 2 ประเภท :-
  1. การให้แหล่งกำเนิดแสงแสดงภาพและตัวอักษรดยตรง

  2. หลักการนี้ใช้ในจอภาพ CRT ซึ่งอาศัยลำอิเล็กตรอนกระทบกับสารเรืองแสงที่ติดอยู่กับจอภาพ สารเรืองแสงจะเปล่งแสงออกมาใมห้ตามองเห็น
  3. การใช้แสงที่มีอยู่แล้วให้เกืดคุณค่า

  4. โดยการใช้หลักการสะท้าน หรือสร้างสิ่งแวดว้อมให้ส่องทะลุ กล่าวคือ ปิดเปิดลำแสงที่มีอยู่แล้วด้วยการ ให้ส่องทะลบุผ่านหรือกั้นไว้ หรือสะท้อน เป็นลักษณะของเทคโนโลยี LCD ( Liquid Crystal ) แผงแสดงผลึกเหลว


        อย่างไรก็ดี การแสดงผลบนจอภาพส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยี CRT เพราะ CRT มีราคาถูกกว่า มีการพัฒนามานาน มีการผลิตในขั้นอุตสาหกรรมมาก มีความทนทาน เชื่อถือได้ CRT จึงเป็นเทคโนโลยีที่อยู่คู่คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะไมโครคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เริ่มต้น
        สำหรับ LCD นั้นได้เริ่มนำมาใช้ในจอแสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบแลปท็อป แบบโน๊ตบุ้ค แบบพาล์มท็อป การแสดงผลของ LCD มีลักษณะแบบแบนราบ น้ำหนักเบา กินไฟน้อย
พัฒนาการของ LCD
        LCD มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับเครื่องคิดเลขและนาฬิกาดิจิตอล หลังจากนั้นก็พัฒนาต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่มีมากขึ้น เทคโนโลยี LCD เป็นเทคโนโลยีที่มียุคสมัย และแบ่งยุคได้ตามการพัฒนาเป็นขั้นๆเหมือนยุคของคอมพิวเตอร์
  • ยุคแรก สร้างฐานของเทคโนโลยี

  • ในยุคนี้เป็นยุคที่เริ่มต้นของการพัฒนา LCD เทคนิควิธีการที่ใช้เป็นแบบ DMS ( Dynamic Seattering Method )และ TN ( Twisted Nematic ) ข้อเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ ใช้กำลังงานไฟฟ้าต่ำ ใช้แรงดันต่ำ เหมาะสมที่จะใช้งานกับเทคโนโลยี CMOS จึงนำมาประยุกต์ใช้ในเครื่องคิดเลข นาฬิกา ฯลฯ
  • ยุคที่สอง ยุคขยายฐาน

  • การประยุกต์ใช้งาน LCD เริ่มกว้างขวางมากขึ้น เทคโนโลยีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นแบบTNโดยพัฒนาให้แผงแสดง มีลักษณะบางและ กระทัดรัดและเริ่มใช้ตัวสะท้อนให้มีสี การประยุกต์ใช้งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของเครื่องคิดเลข นาฬิกา ฯลฯ
  • ยุคที่สาม ยุคกระจาย

  • ในยุคนี้มีการผลิตแพร่หลาย มีการตั้งโรงงานการผลิต LCD กระจายขึ้นทั่วโลก เทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบ TN และ GH ( Guest Host ) ข้อเด่นที่ได้ในยุคนี้ก็คือ LCD มีความเชื่อถือสูง มีความคงทน มีความเข้มคมชัด ีความเร็วในการตอบสนองต่อสัญญาณ ไฟฟ้าได้เร็ว การขยายการใช้งานจึงกว้างขวางขึ้นมาก มีการประยุคใช้ในกล้องถ่ายรูปรถยนต์แผงแสดงของจอคอมพิวเตอร์เกม และอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ การก้าวเข้าสู่รถยนต์ก็เพราะว่าสามารถลดอุปกรณ์การวัดที่ต้องอาศัยกลไกมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ได้มาก การแสดงผลเป็นแบบพาสซีฟจึงไม่สามารถสร้างความเครียดให้กับสายตา
  • ยุคที่สี่ ยุคท้าทายที่จะแทน CRT

  • การใช้งานกว้างขวางและมีตลาดรองรับอยู่มาก เทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามาในยุคนี้คือ การใช้ TFT หรือ Thin Film Transistor เพื่อสร้างจอภาพแสดงผลแบบแอคตีฟ ข้อดีคือ สามารถมัลติเพล็กซ์สัญญาณการแสดงผลได้เร็วทำให้จอภาพมีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาถูกลง แสดงสีได้เหมือนนนธรรมชาติ การประยุกต์ใช้งานจึงเน้นจำพวกโทรทัศน์จอแบน จอคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องมือวัด เกม ฯลฯ

ความแตกต่างระหว่าง LCD กับ CRT
        LCD เป็นแผงแสดงผลที่แตกต่างจาก CRT ตรงที่ตัว LCD ไม่ได้เปล่งแสงออกมา แต่ใช้หลักการควบคุมแสง จึงมีข้อเด่นมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับ CRT
        จุดเด่นของ LCD จึงแสดงผลได้แม้ในสิ่งแวดล้อมที่มีแสงจ้าหรือ กลาง แจ้ง การมองเห็นทำได้อย่างชัดเจนไม่จางเหมือนอุปกรณ์ ที่ กำเนิดแสงเช่น CRT หรือ LED LCE ใช้กำลังไฟฟ้าต่ำมากโดยทั่วไปใช้กำลังไฟฟ้าเพียง 1 -10 MicroWatt per Cm ใช้แรงดันไฟฟ้าขับที่แรงดันต่ำ จึงใช้วงจร CMOS ที่ทำงานเพียง 3 Volt ก็สามารถขับ LCD ได้จึงใช้ในวงจรรคอมพิวเตอร์หรือ วงจรดิจิตอลทั่วไปได้ แหล่งจ่ายไฟสำหรับ LCD ใช้แหล่งเดียวและะแรงดันไฟฟ้าระดับเดียว จึงไม่ยุ่งยากซับซ้อนในการใช้งาน



        การแสดงผลของ LCD มีความคมชัด ไม่มีการกระพริบหรือภาพสั่นไหวไม่สร้างสัญญาณเสียงรบกวน มีขนาดกกะทัดรัด น้ำหนักเบา แบนราบ ขนาดแสดงผลมีขนาดเหมาะสมกับการประยุกต์เข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ ผู้ออกแบบการแสดงผลทำได้ตามต้องการ ด้วยเทคโนโลยี LCD แสดงผลในลักษณะหลายสี เหมือนจอ CRT ได้ การเชื่อมต่อไม่ต้องมีกลไกจึงทำให้ออกแบบประยุกต์ได้ง่าย     หลักการเบื้องต้นของ LCD
        สารผลึกเหลวที่ใช้ใน LCD นั้นเป็นสารสังเคราะห์ที่จัดได้ว่าเป็นสารใหม่ที่พัฒนากันมาเมื่อไม่นานนี้ คำว่าผลึกเหลว ( Liquid Crystal ) หมายถึง สารที่อยู่ระหว่างของแข็งกับของเหลว ปกติสารทั่วไปเมื่อเป็นของแข็งที่อุณหภูมิหนึ่งครั้นได้รับอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะหลอมละลายเป็นของเหลว แต่สำหรับผลึกเหลวนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือมีช่วงอุณหภูมิที่กว้างสำหรับสถานะที่อยู่ระหว่าง ของแข็งกับของเหลว
        ผลึกเหลวจึงแตกต่างจากวัสดุทั่วไปที่มีจุดหลอมเหลวที่เปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว หรือแม้แต่พลาสติกก็จะเริ่มอ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อนจนหลอมละลาย แต่สำหรับผลึกเหลวมีลักษณะพิเศษ ชนิดของผลึกเหลวแยกตามโครงสร้างโมเลกุลเช่น แบบเนมาติก ( nematic ) แบบสเมติก ( smetic ) แบบคอเลสเตริก
        สำหรับหลักการทำงานของมันนั้น ปรากฏการณ์ของผลึกเหลวเป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะพิเศษสารอื่นๆ ในสถานะปกติ เมื่อยังไม่มีแรงดันไฟฟ้าป้อนให้ โมเลกุลของผลึกเหลววางตัวเป็นเกลียวในแนวคอลัมน์ แต่เมื่อ้อนแรงดันไฟฟ้าให้กับผลึกเหลว โครงสร้างโมเลกุลจะกระจักกระจายอย่างสุ่มดังภาพ

            โครงสร้างผลึกที่จัดตัวเป็นเกลียวจะทำให้แสงผ่านทะลุลงไปได้ แต่เมื่อมีสนามไฟฟ้า ผลึกจะกระจัดกระจาย แสงจึงผ่านไปไม่ได้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดลักษณะการแสดงผลเป็นแบบขาวดำ


รวบรวมจาก บทเรียน Online วิชา 204323 ไมโครโปรเซสเซอร์และการออกแบบไมโครคอมพิวเตอร์ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ

การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กกับเทคโนโลยีเว็บ

การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กกับเทคโนโลยีเว็บ

อินเทอร์เน็ตเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของเทคโนโลยีที่ได้รับการขานรับจากทั่วโลก ปัจจุบันการเติบโตของอินเทอร์เน็ตได้ครอบคลุมทั่วทั้งโลก และเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นถนนของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเสมือนใยแมงมุมคลุมทุกหนทุกแห่งไว้หมด
ในที่สุดทุกคนบนพื้นโลกจะใช้ข้อมูลข่าวสาร และรับส่งข่าวสารผ่านเครือข่ายนี้ โดยมีเพียง พีซีเครื่องหนึ่งกับซอฟต์แวร์ที่เรียกว่าบราวเซอร์ก็ทำให้สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่าย ภายในองค์กรก็มีการเชื่อมโยงกลุ่มทำงานที่เรียกว่าเวิร์กกรุปเข้าด้วยกัน และเชื่อมเข้าสู่อินเทอร์เน็ตในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้การแสดงภาพขององค์กรหรือบุคคลบนเครือข่ายจึงใช้สัญญลักษณ์ที่เรียกว่าโฮมเพ็จ หรือสถานีบริการที่นำข้อมูลข่าวสารมาวางไว้ เพื่อเป็นตัวแทนองค์กรหรือบุคคล
กล่าวกันว่า การทำงานทุกอย่างในยุคต่อจากนี้ไปจะใช้เทคโนโลยีเว็บนี้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ สภาพการทำงานหลายอย่างจะเปลี่ยนลักษณะและบทบาทที่เคยเป็น การดำเนินงานจึงต้องหันมาสร้างประโยชน์บนเว็บนี้ให้มากที่สุด
ลองนึกดูว่า สถาปนิกสามารถออกแบบบ้านบนเครื่องคอมพิวเตอร์ และแสดงบนเว็บ สามารถส่งต่อให้กับลูกค้าได้ชม โดยมีโปรแกรมสมมุติที่จะดูรูปแบบได้เหมือนจริง และยังส่งให้วิศวกรคำนวณโครงสร้าง ประเมินราคา หากไม่พอใจบางส่วนก็ปรับแต่งแก้ไขบนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงถึงกันได้
การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมก็ใช้โปรแกรมพวก CAD - Computer Aided Design เมื่อออกแบบเสร็จก็เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย เพื่อส่งต่อส่วนการผลิตหรือตรวจสอบต่าง ๆ การผลิตก็ใช้โปรแกรมประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต ที่เรียกว่า CAM - Computer Aided Manufacturing เครื่องจักรส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมและเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ทำให้การใช้วัตถุดิบที่เชื่อมโยงไปยังบริษัทผู้ขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเกี่ยวโยงยังครอบคลุมถึงการควบคุมสินค้าคงคลังและฝ่ายบัญชีของบริษัท
การค้าขายที่เรียกว่า อีคอมเมิร์ช (Ecommerce) จะเข้ามามีบทบาทต่อการค้ายุคใหม่ การทำงานภายในสำนักงานจะมีการสร้างกลุ่มงานที่ทำงานร่วมกัน โดยอาศัยเครือข่ายเป็นตัวเชื่อมโยง การค้าขายบนเครือข่ายทำให้เป้าหมายของลูกค้ากว้างไกลออกไปอีกมาก การนำเสนอสินค้าที่อยู่ในรูปของโฮมเพ็จจะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอีกมาก ในยุคต่อจากนี้ การนำเสนอบนอินเทอร์เน็ตจะพึ่งพาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และการแสดงที่มีลักษณะสมจริงมากขึ้น
กล่าวกันว่าในอนาคต ถ้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเกิดขัดข้องหรือล้มเหลวลง จะทำให้กิจการการทำงานหลายอย่างมีปัญหาและอาจจะเป็นความโกลาหลได้ การสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะหยุดชงัก จนมีผู้พูดติดตลกว่า เงินเดือนอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ เพราะระบบโปรแกรมเงินเดือนที่ทำงานร่วมกันอยู่บนเว็บไม่สามารถรับข้อมูลมาประมวลผลได้หมด
เทคโนโลยีเว็บจึงประกอบด้วยตัวเทคโนโลยีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ต้องพัฒนาให้ถนนของข้อมูลข่าวสารมีขนาดกว้างและรวดเร็วมากขึ้น การเชื่อมโยงติดต่อถึงกันเป็นเครือข่ายของโลก มีระบบการดูแลและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ดีขึ้น เทคโนโลยีอีกส่วนหนึ่งคือเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ ปัจจุบันมีการพัฒนาในรูปแบบแนวทางการพัฒนาเชิงวัตถุ หรือที่เรียกว่า ออปเจ็ก โอเรียนเต็ด (Object Oriented) ทำให้ซอฟต์แวร์บนเครือข่ายมีลักษณะเป็นรูปธรรม ผู้ใช้งานใช้เพียงบราวเซอร์หรือสถานีปลายทาง แต่สามารถเรียกซอฟต์แวร์จากเชิร์ฟเวอร์ให้มาทำงานบนเครื่องของตนเองได้ การพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุแบบกระจายจะเป็นหนทางที่ทำให้ความซับซ้อนของระบบงานเป็นไปได้อีกมาก การทำงานร่วมกันบนเครือข่ายจะอาศัยซอฟต์แวร์ที่เป็นออปเจ็ก กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กเหล่านี้สร้างการประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ ได้อีกมากมายมหาศาล
ทั้งเทคโนโลยีเครือข่ายและเทคโนโลยีซอฟต์แวร์เชิงวัตถุ เป็นแนวคิดแนวใหม่ที่จะทำให้เทคโนโลยีเว็บเดินหน้าไปได้อีกมาก ดังตัวอย่างเช่น สถาปนิกออกแบบชิ้นงานและนำเสนอไว้บนเชิร์ฟเวอร์ ผู้เรียกดูสามารถนำชิ้นงานมาทำงานบนเครื่องของตนเอง จนสามารถดูผลงานเป็นภาพแบบสามมิติ โปรแกรมที่ใช้ในการนำเสนอผลงานก็เป็นโปรแกรมที่กระจายอยู่ในเชิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ที่เรียกเข้ามาใช้งานร่วมกัน
ณ วันนี้การพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงวัตถุบนเครือข่ายยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ดังเราจะเห็นแนวทางของการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเว็บที่ใช้ภาษาจาวา ภาษาจาวามีแนวทางของการสร้างซอฟต์แวร์แบบเชิงวัตถุ ที่ผู้ใช้สามารถเรียกรหัสจาวามาทำงาน หรือดำเนินการที่เครื่องของตนเอง มีการทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรที่เครื่องมากมายนัก
ความคิดของการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเครือข่ายในรูปแบบเว็บจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมไป เพราะจากเดิมให้ซอฟต์แวร์อยู่ที่เครื่องหลัก ผู้ใช้ออนไลน์ผ่านเครือข่ายไปเรียกใช้ แต่ต่อมามีแนวคิดในการทำงานแบบไคลแอนต์และเชิร์ฟเวอร์ อินเทอร์เน็ตในยุคแรกใช้แบบไคลแอนต์และเชิร์ฟเวอร์เป็นหลัก ดังเราจะเห็นได้จากตัวอย่างของการประยุกต์บน WWW ที่แพร่หลายในรูปโฮมเพ็จบนอินเทอร์เน็ต โปรแกรมบราวเซอร์เป็นโปรแกรมแบบไคลแอนต์ และทาง www เชิร์ฟเวอร์มีโปรแกรมจัดการเว็บ ครั้นเมื่อสร้างซอฟต์แวร์ในรูปแบบเชิงวัตถุ หรือเป็นออปเจ็กมากขึ้น การทำงานบนเครือข่ายจึงมีลักษณะการเรียกซอฟต์แวร์แบบออปเจ็กมาทำงานร่วมกันด้วย แทนที่จะเรียกเฉพาะข้อมูล เหมือนเช่นการใช้งานเปิดข้อมูลโฮมเพ็จทั่วไป
ลักษณะเด่นของซอฟต์แวร์เชิงวัตถุคือ แต่ละออปเจ็กของซอฟต์แวร์มีลักษณะอิสระ โดยซ่อนส่วนที่เป็นกระบวนการทำงานและข้อมูลไว้ภายใน การติดต่อระหว่างออปเจ็กใช้ระบบสื่อสาร โดยส่งสัญญาณกระตุ้นการทำงานของออปเจ็ก ดังนั้นซอฟต์แวร์เชิงวัตถุจึงเป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งานบนเครือข่าย เพราะสามารถกระจายออปเจ็กและส่งออปเจ็กไปทำงานที่ใดก็ได้
เทคโนโลยีเว็บจึงเป็นเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนไปหมด การดำเนินงานทางธุรกิจทั่วไปภายในองค์กรและระหว่างองค์กรจะต้องเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกันและทำงานร่วมกัน การพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเว็บจึงเป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ซอฟต์แวร์แนวใหม่นี้ไม่ได้
ก็อยากจะเน้นให้เห็นว่า ไม่ว่าเครือข่ายจะพัฒนาทางฮาร์ดแวร์ไปมากมายเพียงไร การประยุกต์ใช้งานที่ได้ผลดียังขึ้นกับการพัฒนาซอฟต์แวร์บนเครือข่าย แนวทางของการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นออปเจ็ก เหมือนวัตถุ และยังวางกระจายกันบนเครือข่ายที่สามารถเรียกมาใช้งานร่วมกันเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะบนเครือข่ายไม่ใช่เป็นถนนของข้อมูลอย่างเดียว ยังเป็นถนนของโปรแกรมที่มีลักษณะเป็นออปเจ็กที่จะวิ่งมาร่วมกันทำงานบนเครื่องใดเครื่องหนึ่ง หรือให้หลาย ๆ เครือข่ายช่วยกันทำงานตามฟังก์ชันที่กำหนด
การดำเนินการทางธุรกิจจึงต้องพึ่งซอฟต์แวร์แนวใหม่นี้ เพื่อทำให้การทำงานบนเครือข่ายมีลักษณะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น



เขียนโดย : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
Last update : 17/05/1999

การสร้างเสียงที่ดีขึ้นจากลำโพงตัวเดิม

การสร้างเสียงที่ดีขึ้นจากลำโพงตัวเดิม


ปัจจุบันเรื่องของเสียงเป็นส่วนที่ได้รับควมสนใจมาก หลายท่านคงสละเงินเพื่อซื้อลำโพงที่ดีที่มีคุณภาพ เพื่อแลกกับความสบายหู และความสะใจในอารมณ์ แต่อาจจะลืมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ Sound Card
ส่วนมากแล้ว ทางร้านจะเสียบสายสัญญาณเสียงออกมาทาง Speaker Out เพราะเสียงที่ออกมาจะดังมากเกินไปทำให้เสียงแตก และไม่สามารถปรับความดัง-ค่อยอย่างละเอียดได้ ซึ่งจะเป็นการลดประสิทธิภาพของเสียง สำหรับลำโพงที่มีภาคขยายอยู่ในตัวเอง (ส่วนใหญ่แล้วลำโพงที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าจะมีภาคขยายอยู่ในตัวเอง)
วิธีแก้ไข
ลองนำสายสัญญาณเสียงเปลี่ยนไปเสียบที่ช่อง Line Out ซึ่งสัญญาณที่ออกมาจะไม่ถูกขยายโดย Sound Card สำหรับบางเครื่องที่ไม่มีช่อง Line Out หรือมีแต่ Audio Out ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้ลองเปิดเครื่องแล้วดูที่ Sound Card จะเห็น Jumper switch ซึ่งเป็นการเลือกของ Audio Out ว่าจะให้สัญญาณออกที่ speaker หรือ Line Out โดยสามารถอ่านรายละเอียดจากคู่มือ Sound Card ที่แนบมาพร้อมกับตอนซื้อ เมื่อเปลี่ยนได้แล้วก็จะทำให้เสียงที่ออกมาไม่ดังหนวกหูหรือเสียงแตก แถมยังได้เสียงที่ละเอียดขึ้นอีกด้วย
หวังว่าเทคนิคนี้คงทำให้สามารถรับฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์ของคุณที่สบายหูและน่าฟังขึ้น

เขียนโดย : สิทธิชัย เจียมพจมาน
ที่มา : หนังสือไมโครคอมพิวเตอร์ ฉบับเดือนมีนาคม 2541
Last update : 30/06/1999

เทคนิคการกู้ข้อมูลบนดิสก์ 3.5 นิ้ว

เทคนิคการกู้ข้อมูลบนดิสก์ 3.5 นิ้ว


ข้อมูลที่สำคัญบางอย่างที่เราเก็บไว้บนแผ่นฟลอปปีดิสก์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ที่ทำให้ข้อมูลที่สำคัญเหล่านั้นล้วนอันตรธานไปสิ้น หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเนื้อที่จัดเก็บข้อมูลบนดิสก์ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจาก โดนสัมผัสจนเป็นรอยนิ้วมือ โดนฝุ่นละอองเล่นงาน หรือน้ำ โดยที่คุณไม่สามารถใช้โปรแกรมจำพวก Scandisk หรือ Norton Disk Doctor เข้าไปจัดการแก้ไขมันได้ แต่คุณก็อย่าพึ่งสิ้นหวัง เพราะสามารถแก้ไขตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ก่อนอื่นต้องทดสอบแผ่นดิสก์ว่าสามารถจัดเก็บข้อมูลบางส่วนที่ยังเหลือ ให้ย้ายไปเก็บที่อื่นได้หรือไม่ ถ้าหากแผ่นเสียจนไม่สามารถทราบสถานะของแผ่นได้ ก็ข้ามขั้นตอนนี้ได้เลย
2. เลื่อนแผ่นป้องกันจุดอ่านของแผ่นดิสก์ให้เปิดออก แล้วใช้น้ำยาล้างหัวเทปฉีดหรือหยดลงไป (แนะนำให้ใช้แบบฉีด ซึ่งมีคุณภาพดีกว่า) ห้ามใช้วิธีเช็ดบนดิสก์ตรงช่องที่เปิดนั้นทั้งสองด้าน
3. ใช้เหล็กคีบตรึงแกนหมุน (หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้แทนได้) ใช้มืออีกข้างบีบแผ่นเบา ๆ แล้วทำการหมุนเหล็กคีบไปจนครบรอบ
4. ทำข้อ 2 และ 3 ซ้ำอี 3-4 ครั้ง แล้วทิ้งไว้ให้แห้งในที่สะอาด
หมายเหตุ เทคนิคนี้ใช้ไม่ได้กับแผ่นที่เสียจากกรณีอื่น ๆ เช่น ถูกแม่เหล็ก ความร้อน หรือถูกขีดข่วน เป็นต้น



เขียนโดย : นรเศรษฐ์ ทองคำ
หนังสือไมโครคอมพิวเตอร์ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2541
Last update : 30/06/1999

immcal


Creating IMMCAI Package

IMMCAI คือ Interactive MultiMedia Computer Assisted Instruction เป็นงานพัฒนา วิจัยที่ได้รับความสนใจมากจากนักวิชาการ นักการศึกษา นักฝึกอบรม นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนักธุรกิจทั่วไปด้วยงานพัฒนาทาง IMMCAI จะมีบทบาทสำคัญมาก ในการพัฒนาความรู้ของมนุษย์แบบทางไกล แบบอิสระบนทางด่วนข้อมูล (Internet) จะทำให้การพัฒนาความรอบรู้ของมนุษย์แบบไม่จำกัดเวลา สถานที่และวัยของผู้เรียน รวมทั้งไม่จำกัดภาษา หรือประเทศ ระยะทางไกล ใกล้ จะไม่เป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้อีกต่อไป IMMCAI บนทางด่วนข้อมูลจะทำให้ทุกอย่างเป็นจริงได้
CAI คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอน ใช้เสริมการสอนขณะที่สอนในห้องเรียนใช้เสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน ทั้งทางไกลและทางใกล้ สามารถสอนความรู้ใหม่ และสอนซ่อมเสริมความรู้ที่เรียนมาแล้ว เป็นต้น

ประเภทของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สามารถจะแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ รวม 8 ประเภทดังนี้
1. Instruction
        แบบการสอน เพื่อใช้สอนความรู้ใหม่แทนครู ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแบบ Self Study Package เป็นรูปแบบของการศึกษาด้วยตนเองจะเป็นชุดการสอนที่จะต้องใช้ความระมัดระวัง และทักษะในการพัฒนาที่สูงมาก เพราะจะยากเป็นทวีคูณกว่าการพัฒนาชุดการสอนแบบโมดูล หรือแบบโปรแกรมที่เป็นตำรา ซึ่งคาดว่าจะมีบาทบาทมากในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะ IMMCAI Internet
2. Tutorial
        แบบสอนซ่อมเสริม หรือทบทวน เป็นบทเรียนเพื่อทบทวนการเรียนจากห้องเรียน หรือจากผู้สอน โดยวิธีใด ๆ จากทางไกลหรือทางใกล้ก็ตาม การเรียนมักจะไม่ใช้ความรู้ใหม่หากแต่จะเป็นความรู้ที่ได้เคยรับมาแล้วในรูปแบบอื่น ๆ แล้วใช้บทเรียนซ่อมเสริมเพื่อตอกย้ำความเข้าใจที่ถูกต้อง และสมบูรณ์ดีขึ้น สามารถใช้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
3. Drill and Practice
     แบบฝึกหัด และควรจะมีการติดตามผล (Follow up) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาครั้งต่อ ๆ ไป จากขั้นตอนและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เสริมการปฏิบัติหรือเสริมทักษะการกระทำบางอย่างให้เข้าใจยิ่งขึ้น และเกิดทักษะที่ต้องการได้ เป็นการเสริมประสิทธิผลการเรียนของผู้เรียนสามารถใช้ในห้องเรียนเสริมขณะที่สอนหรือนอกห้องเรียน ที่ใดเวลาใด ก็ได้ สามารถใช้ฝึกหัดทั้งทางด้านทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งทางช่างอุตสาหกรรมด้วย
4. Simulation
     แบบสร้างสถานการณ์จำลอง เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้ หรือทดลองจากสภาพการณ์จำลองจากสถานการณ์จริง ซึ่งอาจจะหาไม่ได้หรืออยู่ไกลไม่สามารถนำเข้ามาในห้องเรียนได้ หรือมีสภาพอันตราย หรืออาจสิ้นเปลืองมากที่ต้องใช้ของจริงซ้ำ ๆ สามารถใช้สาธิตประกอบการสอนใช้เสริมการสอนในห้องเรียน หรือใช้ซ่อมเสริมภายหลังการเรียนนอกห้องเรียน ที่ใด เวลาใด ก็ได้
5. Games
     แบบสร้างเป็นเกมส์ การเรียนรู้บางเรื่องบางระดับบางครั้งการพัฒนาเป็นลักษณะเกมส์สามารถเสริมการเรียนรู้ได้ดีกว่าการใช้เกมส์เพื่อการเรียน สามารถใช้สำหรับเรียนรู้ความรู้ใหม่หรือเสริมการเรียนในห้องเรียนก็ได้ รวมทั้งสามารถสอนทดแทนครูในบางเรื่องได้ด้วยจะเป็นการเรียนรู้จากความเพลิดเพลินเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีระยะเวลาความสนใจสั้น เช่นเด็ก หรือในภาวะสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย เป็นต้น
6. Probllem Solving
        แบบการแก้ปัญหา เป็นการฝึกการคิดการตัดสินใจ สามารถใช้กับวิชาการต่าง ๆ ที่ต้องการให้สามารถคิดแก้ปัญหา ใช้เพื่อเสริมการสอนในห้องเรียนหรือใช้ในการฝึกทั่ว ๆ ไป นอกห้องเรียนก็ได้เป็นสื่อสำหรับการฝึกผู้บริหารได้ดี
7. Test
      แบบทดสอบ เพื่อใช้สำหรับตรวจวัดความสามารถของผู้เรียนสามารถใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน หรือใช้ตามความต้องการของครู  หรือของผู้เรียนเอง รวมทั้งสามารถใช้นอกห้องเรียนสามารถใช้วัดความสามารถของตนเองได้ด้วย
8. Discovery
      แบบสร้างสถานการณ์ เพื่อให้ค้นพบเป็นการจัดทำเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง
โดยการลองผิดลองถูก หรือเป็นการจัดระบบนำล่อง เพื่อชี้นำสู่การเรียนรู้สามารถใช้เรียนรู้ความรู้ใหม่ หรือเป็นการทบทวนความรู้เดิม และใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน หรือการเรียนนอกห้องเรียน สถานที่ใด เวลาใด ก็ได้
การพัฒนาบทเรียน CAI
 ในการพัฒนาบทเรียน CAI ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบทเรียนรูปแบบใด เริ่มจากหัวเรื่อง เป้าหมายที่กำหนด วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ ที่กำกับมาด้วย การพัฒนาควรจะดำเนินได้เป็น 5 ขั้นตอน คือ
        1. วิเคราะห์ (Analysis)
        2. ออกแบบ (Design)

               3. พัฒนา (Development)
               4. สร้าง (Implementation)
               5. ประเมินผล (Evaluation)
        จากนั้น ก็นำออกเผยแพร่ (Publication) การสร้างบทเรียน CAI ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า การจัดทำ CAI นี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ๆ ซึ่งหมายความว่าใคร ๆ ที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ก็สามารถจะสร้าง CAI ได้ การกล่าวเช่นนี้จะจริงเท็จอย่างไร ใครทำใครก็รู้ ในที่นี้จะกำหนดขั้นตอนการพัฒนา IMMCAI ไว้ทั้งหมด 16 ขั้นตอน เพื่อสะดวกกับผู้เริ่มต้นที่จะสนใจพัฒนาบทเรียน IMMCAI
ทีมพัฒนาบทเรียน CAI
 ในการพัฒนาบทเรียน CAI ให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนได้นั้น จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาด้วยกันดังต่อไปนี้

                1. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหา (Content Expert)
                2. นักการศึกษา (Educator)
                3. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมัลติมีเดียเทคโนโลยี (Multimedia Technology Expert)
                4. โปรแกรมเมอร์ (Programmer)